
“ประกิต สิริวัฒนเกตุ”กรรมการผู้จัดการ บล.เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน) ออกบทวิเคราะห์ “อนาคตคุณอุ๊งอิ๊งกับอนาคตของ SET Index” มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ!

โดยระบุว่า เมื่อวานนี้ (1 ก.ค.68) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ (9 ต่อ 0) รับคำร้องความเป็นรัฐมนตรีของคุณแพทองธาร ชินวัตร สิ้นสุดลงตาม รธน.ม.170 วรรคหนึ่ง(4) ประกอบ ม.160(4) และ (5) ไว้วินิจฉัย และมีมติเสียงข้าง 7 ต่อ 2 มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้อง (คุณแพทองธาร) หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีนับแต่วันที่ 1 ก.ค.68
หลังศาลฯ มีมติและคำสั่งข้างต้น SET Index มึนๆ อยู่ไม่นาน ดัชนีก็พุ่งโพล่งบวกกระชากลากถูได้ถึง 20 จุด ก่อนจะปิดตัวได้ที่ 1,110 จุด
ทำไมตลาดถึงดีใจกันนัก กับต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ของคุณแพทองธาร
คำตอบใหญ่เพราะมันทำให้อุณหภูมิการเมืองลดความเดือดเลือดพล่านลง

ตัวจุดฉนวนให้อุณหภูมิการเมืองร้อนระอุเกินพันองศาเซลเซียส มันก็มาจากคลิปเสียงสยิวระหว่าง นายกรัฐมนตรีคุณแพทองธาร และฮุนเซน ณ บางระแวก ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนเรืองลั่นไปทั่วแผ่นดินไทยเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน
คลิปดังกล่าวก่อให้เกิดการรวมตัวชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้คุณแพทองธารลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 28 มิ.ย.68 โดยประกาศจะยกลำดับการชุมนุมหากภายในวันที่ 1 ก.ค. ยังไม่มีการลาออกอีก
หากการชุมนุมขยายวงใหญ่โต อุณหภูมิการเมืองพุ่งสูงติดเพดาน อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงอยู่ 2 ประการ
ประการแรก รัฐบาลอาจทนแรงกดดันไม่ได้ และประกาศยุบสภาฯ เร็ว ซึ่งจะทำให้ร่างกฎหมายงบประมาณปี 69 ที่กำลังอยู่ในชั้นกรรมาธิการ และรอการพิจารณาของสภาฯ ในวาระ 2 และ 3 ต้องแท้งก่อนกำหนด เรื่องนี้จะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไทยอย่างใหญ่หลวง เพราะจะเกิดช่วงสูญากาศงบประมาณนานมากกว่า 10 เดือน กว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ กว่าจะเปิดประชุมสภา กว่าจะมีรัฐบาลใหม่ กว่าจะเอาร่างงบประมาณเข้าสภา กว่าจะผ่านวาระ 1 2 และ 3 นู่น ก.ค.69 รัฐบาลถึงจะได้ใช้งบ เศรษฐกิจไทยซึ่งแย่อยู่แล้ว จะยิ่งแย่หนักลงไปอีก
ประการที่สอง หากนายกรัฐมนตรีไม่ลาออก หรือไม่ยุบสภาฯ ม็อบขยายวงอาจเกิดความวุ่นวายและความรุนแรง จนเป็นเหตุให้เกิดการรัฐประหารเพื่อคุมสถานการณ์ อันนี้ยิ่งแย่ต่อเศรษฐกิจไปกันใหญ่

ดังนั้น การที่คุณแพทองธาร ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ความเสี่ยงที่ความวุ่นวายการเมืองจะรุนแรงจนส่งผลให้ต้องยุบสภาก่อนงบประมาณปี 69 จะผ่านสภา ก็เป็นอันน้อยลง แม้ว่ารักษาการนายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจเต็มเหมือนนายกรัฐมนตรี แต่อำนาจในการยุบสภาเป็นของพระมหากษัตริย์ นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่แค่ทูลเกล้าถวายคำแนะนำเท่านั้น ฉะนั้นจะให้รักษาการเป็นผู้ดำเนินการจึงดูเป็นเรื่องที่ไม่สมควรกระทำ
หันมาดูที่กรอบเวลาในการพิจารณาของศาล รธน. ช่วงแรกจะให้คุณแพทองธารยื่นหนังสือชี้แจงได้ภายใน 15 วัน (นับตั้งแต่ 1 ก.ค.) หากคุณแพทองธารไม่ขอยายเวลา จากนั้นศาลจะนัดพิจารณาคดี โดยเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าให้การ โดยจะนัดพิจารณาเป็นนัดๆ คาดว่าจะใช้เวลาราว 2-3 เดือนก่อนจะนัดฟังคำวินิจฉัย
เมื่อดูที่ช่วงเวลาก่อนจะมีคำวินิจฉัย 2-3 เดือน เพียงพอที่จะทำให้สภาฯ สามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณปี 69 ได้ทันเวลาในกลาง ส.ค. ก่อนจะมีการยื่นทูลเกล้า และรอรับการโปรดเกล้าก่อนประกาศในราชกิจจาใน ก.ย. นี้
ไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณปี 69 กว่า 3.78 ล้านล้านบาท ตลาดหุ้นย่อมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อเศรษฐกิจ และไม่ได้ให้น้ำหนักกับเรื่องคุณแพทองธารจะเป็นหรือไม่เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ หรือจะปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมแทน ก็ไม่ใช่เรื่องที่นักลงทุนจะแคร์ เพราะมันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นไปกว่าเดิมอยู่แล้ว
ทีนี้การที่คุณแพทองธาร ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีนั้น ฝั่งรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยยังคงเชื่อว่า คุณแพทองธารสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็น รมว.วธ ได้ เพราะศาล รธน. มีคำสั่งแค่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตามที่สมาชิกวุฒิสภา 36 คน ยื่นร้องมา

แต่เรื่องนี้ยังต้องติดตามต่อว่าคุณแพทองธารจะกล้าเสี่ยงไหม เนื่องจากเรื่องที่ร้องคือ รธน. ม.170 การสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี และ ม.82 ในกรณีที่ศาลรับคำร้อง สามารถให้ผู้ถูกร้องต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีดำวินิจฉัย ซึ่งคำว่ารัฐมนตรีในที่นี้มันหมายถึงทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี
กระนั้นมีเรื่องที่น่าสังเกตว่า ตุลาการเสียงข้างน้อย 2 เสียง ที่ลงมติให้คุณแพทองธารยังปฏิบัติหน้าที่ต่อได้เพราะข้อเท็จจริงตามคำร้องยังไม่ยุติชัดเจน แต่เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น คือให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ แต่ต้องจำกัดอำนาจด้านความมั่นคง ต่างประเทศและการคลังจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นกรณีการจำกัดอำนาจ ก็ไม่ได้กระทบต่อการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม
คำถามต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไร คุณแพทองธารจะต้องพ้นจากความรัฐมนตรีด้วยเหตุไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่
ดูมีความเสี่ยงสูงมากที่คุณแพทองธารจะไม่รอด หากย้อนกลับไปตอนคุณเศรษฐา ตอนนั้นศาลฯ มีมติรับคำร้องและให้คุณเศรษฐาปฏิบัติหน้าที่ต่อด้วยเสียง 6 ต่อ 3 แต่เมื่อถึงวันตัดสินกลับมีมติ 5 ต่อ 4 ให้พ้นจากตำแหน่ง ด้วยเหตุว่าการไปแต่งตั้งคุณพิชิต ชื่นบาน ถือเป็นการปฏิบัติด้วยความไม่สุจริต
จากคดีของคุณเศรษฐา จะเห็นได้ว่า ศาลฯ ได้วางมาตรฐานคำว่าจริยธรรมและซื่อสัตย์สุจริตไว้สูงมาก เมื่อมาดูที่ความผิดพลาดของคุณแพทองธาร ก็ต้องบอกว่ารอดยาก
ทีนี้หากคุณแพทองธารต้องพ้นจากตำแหน่งจริง เป็นหน้าที่ของสภาฯ ที่จะต้องทำการเลือกตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากแคนดิเดตที่เหลืออยู่ ประกอบไปด้วยแคนดิเดต คุณชัยเกษม นิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จากพรรครวมไทยสร้างชาติ คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ พล.อ.ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ
คาดกันว่าเมื่อถึงเวลานั้น น่าจะเป็นคุณชัยเกษมที่ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะดำรงตำแหน่งไม่นาน ก็จะมีการประกาศยุบสภาฯ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 68 นี้
SET Index จึงน่าจะตอบสนองต่อโอกาสที่การเมืองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ตลาดน่าจะมีความคาดหวังว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะทำให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นดีกว่า เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับประเทศเกาหลีใต้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเรื่องการเมืองจะซาลงไป แต่ต้องระวังการเจรจาการค้ากับสหรัฐ คาดว่าไทยจะยังไม่สามารถที่จะบรรลุข้อตกลงได้ทันเส้นตาย 9 ก.ค. นี้ ทำให้ไทยต้องโดนภาษีศุลกากรในระดับ 15-20% โดยน่าจะเป็นอัตราภาษีที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม SET Index จะตอบรับเชิงลบและดัชนีจะวนลงต่ำกว่า 1,110 จุดอีกครั้ง
กล่าวโดยสรุปแล้ว ควรรอให้ SET Index ปรับลงรับกับข่าวร้ายเรื่องภาษีศุลกากร ก่อนจะรอเข้ารับอีกครั้งเพื่อลุ้นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงปลายปี
*รูปประกอบโดย workpoint Today