
รัฐบาลยังไม่ควร “ยุบสภา” ตอนนี้ เพราะต้องทำ 2 เรื่องให้สำเร็จลุล่วงก่อน คือ 1. กฎหมายงบประมาณปี 69 และ 2. กฎหมายประชามติ เพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
…
วันที่ 3 ก.ค.68 เปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็ต้องรีบเข็นร่างกฎหมายงบประมาณ ปี 69 ให้ผ่านวาระ 2-3 เพราะถ้าร่างกฎหมายงบประมาณล่าช้า ไม่ทันมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.68 จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง และความเชื่อมั่นของนักลงทุน
นอกจากนี้ สส.ทั้งสภาฯ (อาจจะยกเว้นบางพรรคการเมืองที่มีความเกี่ยวพันกับ สว.) ต้องรีบเสนอญัตติให้สภาฯ ยืนยันร่าง พ.ร.บ. ประชามติ หลังจากถูกยับยั้งโดย สว. จนผ่านพ้น 180 วันไปแล้ว
เนื่องจาก “ประชามติ” เป็นกลไกสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนมีอำนาจโดยตรงในการกำหนดทิศทางอนาคตประเทศ ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ล้างคราบไคลรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากการทำรัฐประหารเมื่อปี 57
โดยการทำประชามติเที่ยวนี้ อาจจะมี “คำถามพ่วง” ไปด้วยเลยว่า “ควรยุบ” หรือ “ไม่ควรยุบ” องค์กรอิสระที่อาจจะมีมากมายเกินไป แถมยังมีอำนาจมากกว่า สส.ในสภาฯ และมีอำนาจมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ถ้ายังไม่ยุบทิ้ง! ก็ควรจะต้องถูกลดทอนอำนาจลงมา โดยไม่ให้มีอำนาจยุบพรรคการเมือง ไม่ให้มีอำนาจปลดนายกรัฐมนตรี และที่มาขององค์กรอิสระต่างๆ ควรมีความยึดโยงกับประชาชนมากกว่านี้ ให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินเลือกตัวบุคคลในองค์กรอิสระอย่างใกล้ชิดกว่านี้ และช่วงเวลาในการดำรงตำแหน่งต้องไม่นานเกินไปนัก คือไม่เกิน 4 ปี
ที่สำคัญคือการเขียนตัวบทกฎหมายต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ ต้องมีความชัดเจน ไม่คลุมเครือ เพื่อไม่ต้องตีความ และไม่ต้องใช้ดุลยพินิจกันตามอำเภอใจ
รัฐบาลรีบยุบสภาตามเสียงเรียกร้องของคนบางกลุ่มไม่ได้ เพราะต้องเข็นกฎหมายงบประมาณปี 69 ให้ผ่าน รวมทั้งผลักดันให้มีการทำประชามติในช่วงปลาย 68 เพื่อปูทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันเสียที ไม่เช่นนั้นประเทศก็ติดกับดักองค์กรอิสระกันอยู่แบบนี้
ถ้า 2 เรื่องนี้ผ่าน! ทั้งรัฐบาล-สส.ในสภาฯ จะเดินไปทางไหนก็เชิญตามสะดวก!
เสือออนไลน์