
เหลือบไปเห็น "อาจารย์อานนท์" ที่อ้างตัวเป็นนักรบพิฆาตมดพิฆาตแมวอะไรสักอย่าง ออกมาวิเคราะห์ต้นเหตุที่ "นายกฯ อิ้ง" ต้องยอม "ฮุนเซ็น" เป็นตุเป็นตะแทบจะเอาประเทศไปขาย
เพราะ "อดีตนายกฯ ทักษิณผู้พ่อ" มีธุรกิจที่ไปลงทุนอยู่ในเขมรมหาศาลทั้งธุรกิจโทรศัพท์ สื่อสาร ดาวเทียม หากไทยกับเขมรสะบั้นสัมพันธ์ถึงขั้นรบรากันขึ้นมา ธุรกิจของ "ตระกูลชิน" ในเขมรก็จบเห่!
ก็ไม่รู้นักวิชาการท่านนี้ไปขุดข้อมูลมาจากไหน ถึงได้ผูกเรื่องเป็นตุเป็นตะได้ขนาดนี้ เพราะข้อมูลที่ขุดขึ้นมาวิเคราะห์พล่ามเป็นตุเป็นตะที่ว่านั้น เป็นข้อมูลเก่าเมื่อ 25-30 ปีก่อน ตอนที่ "ทักษิณ" เริ่มทำธุรกิจใหม่ๆ โน้นแล้ว
เขาขายหุ้นเปลี่ยนมือไปไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบแล้ว จนปัจจุบันธุรกิจสื่อสารของนักลงทุนไทยที่เหลืออยู่ คือ "ไทยคม" ที่ไปถือหุ้นในบริษัท Mphone Cambodia นัั้น มีอยู่น้อยนิดไม่ถึง 15% ด้วยซ้ำ หุ้นใหญ่ที่เหลือก็มีทั้งฝั่งกัมพูชา สิงคโปร์ และเวียดนาม และปัจจุบันไทยคมก็ไม่ใช่ของตระกูลชินแล้ว เขาขายออกไปตั้ง 20 ปีโน้นแล้ว
ส่วนธุรกิจไทยที่ไปลงทุนอยู่ในกัมพูชาอันดับ 1 วันนี้ ที่กำลัง "หายใจไม่ทั่วท้อง" จากความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นนั้น คือ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ที่เข้าไปตั้งโรงงานผลิตปูนซิเมนต์ที่เมืองกำปอด มาตั้งแต่ปี 2004-2005 ด้วยมูลค่าลงทุนกว่า 15,000 ล้าน ผลิตปูนซิเมนต์ออกสู่ตลาดมาตั้งแต่ปี 2007 ภายใต้แบรนด์ "K Cement" หรือ Khmer Cement
แล้ว "อานนท์" รู้ไหมใครคือ "ผู้ถือหุ้นใหญ่" SCG ที่ว่า ถ้าไม่รู้ก็ลองเอาความเป็นอาจารย์ที่ร่ำเรียนมาเสิร์จหาข้อมูลดูนะ จะได้ไม่เที่ยวไปปล่อยไก่แสดงความ "โง่เขลา" ออกมา
นอกจาก SCG แล้วยังมีกลุ่มธุรกิจใหญ่ 8-10 ราย ที่คนไทยต่างคุ้นหน้าคุ้นตากันดี ไล่ไปตั้งแต่ 1. บริษัทปตท.น้ำมันและค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่มีปั๊ม PTT ในเขมรอยู่ 186 แห่ง มีคาเฟ่อเมซอน 254 แห่งและร้านสะดวกซื้ออีก 70 แห่ง
2. บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) CP ALL ที่มี 7-eleven อยู่ในกัมพูชาเวลานี้อยู่ 112 สาขา และยังมีแผนจัดตั้งบริษัท CP ALL Cambodia เพื่อดำเนินกิจการแฟรนไชส์ในกัมพูชาอีกด้วย
3. บริษัท เบอรี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ดำเนินธุรกิจค้าปลีก "บิ๊กซี" ในกัมพูชาปัจจุบันมีอยู่ 25 สาขา
4. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือ CPF ดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทย่อย C.P. Cambodia มาตั้งแต่ปี 2539 ทำโรงงานผลิตอาหารสัตว์ และธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง
5. บริษัทเมเจอร์ ซีนีเพลกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ เมเจอร์ มีโรงภาพยนตร์ในกัมพูชา 6 แห่ง
6. บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นอกจากจะส่งเครื่องดื่มบำรุงกำลังไปยังกัมพูชาปีละนับพันล้านแล้ว ยังมีแผนตั้งโรงงานผลิตในกัมพูชามูลค่าลงทุนกว่า 1,450 ล้านบาท
7. บริษัท กรุงเทพฯดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) มีโรงพยาบาล 2 แห่งในกัมพูชา
8 บริษัท บี.กริม พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) มีโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในกัมพูชาขนาด 39 เมกะวัตต์
9. บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด หรือ "ทิฟฟี่" มีการลงทุนในธุรกิจโรงแรมในกัมพูชา 2 แห่ง คือ โซฟิเทล โภคีธารา รอยัลอังกอร์ที่เมืองเสียมเรียบ และโซฟิเทล โภคีธารา พนมเปญ กับสนามกอล์ฟอีก 1 แห่ง
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจร้านอาหาร ภัตตาคาร โฮมมาร์ท โกลบอลเฮ้าส์ กลุ่มโรงงานการ์เมนต์ นิคมอุตสาหกรรมศรีโสภณ ของกลุ่ม ที.เค.กรุ๊ป และโรงงานแปรรูปผลไม้ ฯลฯ อีกนับ 100 ราย มูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท
ขณะที่ปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-กัมพูชานั้น ในปี 67 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 366,729 ล้านบาท โดยไทยส่งออก 323,731 ล้านบาท นำเข้า 43,000 ล้านบาท โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าอยู่ 280,538 ล้านบาท ส่วนการลงทุนของกัมพูชาในไทยนั้นยังไม่มีรายงาน

หากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาทวีความรุนแรง ไปจนถึงขั้นสะบั้นความสัมพันธ์ระหว่างกัน และลุกลามไปถึงการทำสงคราม-ขับไล่ถอนสมอการลงทุนระหว่างกันเมื่อไหร่
ความเสียหายที่เกิดขึ้น หาใช่ฝั่งกัมพูชาดั่งที่เราเข้าใจกัน ตรงกันข้ามธุรกิจ-ลงทุนไทยนับหมื่นล้านต่างหาก ก็อาจต้องย่อยยับ และโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่มีมูลค่าลงทุนสูงที่สัดในเวลานี้ คือ SCG และ PTT-OR
แน่นอนว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว " น.ส.แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีคงหลีกหนีความรับผิดชอบไปไม่พ้นแน่

แต่ในส่วนของเครือข่ายกู้ชาติกำมะลอทั้งหลายแหล่ ที่ออกโรงปลุกระดมคอย "สุมไฟ" ความขัดแย้งให้ระอุแดดอยู่ในเวลานี้ที่สมควรต้อง "ประหาร 7 ชั่วโคตร" โทษฐานกระทำการอันเป็นการระคายใต้เบื้องพระยุคคลบาทนั้น
คนเหล่านี้ก็คง "ชิ่งหนี" ความรับผิดชอบกันตามเคย จริงไม่จริง "ท่านผู้เฒ่า"
แก่งหิน เพิง