
หากไม่มีอะไรพลิกผัน หรือต่อให้มีแผ่นดินไหว ฟ้าถล่มดินทลาย ในวันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคมนี้ เวลา 13.00 น. "ศูนย์เตือนภัยภิบัติ" ที่รัฐบาลมอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กรมประชาสัมพันธ์ และโอเปอเรเตอร์ค่ายมือถือทั้ง 3 ค่าย คือ เอไอเอส ทรู และเอ็นที (NT) คงจะดีเดย์ทดสอบระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านระบบ Cell Broadcast service : CBS กันเต็มสูบ
โดยขั้นนอนการแจ้งเตือนภัยที่จะมีขึ้นนี้ได้ตัดขั้นตอนจากเดิมที่ต้องประสานงาน กสทช. ออกไปจากระบบ ไม่ต้องมา Via ผ่าน กสทช. อีกแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ กสทช. รับเป็นเจ้าภาพโม่แป้งวางระบบเตือนภัย CBS ที่ว่ามากว่าขวบปี มีการทดสอบ ทดลองระบบกันมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง
แต่พอถึงวันเกิดเหตุจริง คือ 28 มีนาคม กลับ "ล้มเหลวไม่เป็นท่า" เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางอยู่ประเทศเมียนมาตั้งแต่บ่าย 13.20 น. แต่กว่าที่ระบบเตือนภัยที่ กสทช. เซ็ตเอาไว้จะเริ่มแจ้งเหตุฉุกเฉินให่กับผู้คนได้ ก็ปาเข้าไปในเวลา 14.49 น. หรือเกือบ 2 ชม. ให้หลัง แถมยังจำกัดผู้รับสาส์นส่งข้อความได้ทีละหยิบมือแค่ 2 แสนเลขหมาย
ไม่รู้ว่ามัวไป Via อ้อมโลกอยู่ที่ไหน ถึงได้อืดเป็นเรือเกลือชนิด "เต่ายังเรียกพ่อ" แบบนี้ จนทำให้ท้ายที่สุดนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ตัดสินใจตัดหาง กสทช. ออกไปจากระบบเตือนภัยฉุกเฉินที่ว่านี้ โดยมอบหมายให้ ปภ. ประสานงานกับกรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งค่ายมือถือทั้ง 3 ค่าย คือ AIS True และบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT โดยตรง

รายละเอียดของการทดสอบระบบเตือนภัยฉุกเฉิน CBS ที่ นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดี ปภ. แถลงกับสื่อมวลชนก่อนหน้า ที่จะดีเดย์ในวันศุกร์ที่ 2 พ.ค.นี้ จะเป็นการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่าน Cell Broadcast ไปถึงผู้ใช้โทรศัพท์ทุกระบบภายในเวลาที่รวดเร็ว ครอบคลุมพื้นที่ในการแจ้งเตือนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเรื่องเตือนภัยในประเทศให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเตรียมความพร้อมรับมือ และปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสมนั้น จะแบ่งเป็น 3 ระดับในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
1. ระดับเล็ก จะเริ่มทดสอบวันศุกร์ที่ 2 พ.ค. 68 เวลา 13:00 น. ในพื้นที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี ศาลากลางจังหวัดสงขลา และอาคารศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ
2. ระดับกลาง (ระดับอำเภอ) เริ่มทดสอบในวันพุธที่ 7 พ.ค. 68 เวลา 13:00 น. อำเภอเมืองลำปาง อำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี และเขตดินแดง กทม.
3. ระดับใหญ่ (ระดับจังหวัด) จะมีการทดสอบในวันวันอังคารที่ 13 พ.ค. เวลา 13:00 น. เชียงใหม่ อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช และ กทม. โดยจะมีการกระจายข้อความผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบทุกอำเภอ ทุกจังหวัดเต็มพื้นที่ โดยกำหนดส่งข้อความเป็นสองภาษาคือภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
"การทดสอบระบบ Cell Broadcast เพื่อให้ผู้ให้บริการทั้ง 3 ค่ายมือถือหลักได้ติดตามประเมินผลปัญหา และอุปสรรคของการส่งสัญญาณในพื้นที่จำกัด หรือพื้นที่ขนาดอำเภอ พื้นที่ขนาดใหญ่ก่อนที่ทาง ปภ. จะนำระบบของ Cell Broadcast ไปแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนในโอกาสต่อไป"

ทั้งนี้ ขั้นตอนและระยะเวลาในการแจ้งเตือน หากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว หน่วยแรกที่จะรับเรื่องแผ่นดินไหว คือ กรมอุตุนิยมวิทยา โดยกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว เมื่อได้รับข้อมูลยืนยันชัดเจน จะเป็นผู้ส่งสัญญาณไปให้ผู้บริการทั้ง 3 ค่ายหลัก โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 10 นาที หลังจากนั้น เป็นหน้าที่ของทาง ปภ. ในการส่งข้อแนะนำการปฎิบัติตนหากเกิด After shock หรือถ้าได้รับการยืนยันว่าปลอดภัยแล้ว ก็จะส่งข้อมูลแจ้งประชาชนอีกครั้ง พร้อมย้ำว่า แผ่นดินไหวเท่านั้นที่ทางกรมอุตุนิยมวิทยาจะต้องเป็นผู้แจ้งเหตุให้ประชาชนรับทราบเบื้องต้น แต่เหตุการอื่นๆ จะเป็นหน้าที่ของ ปภ. โดยตรง

ผู้ใช้บริการมือถือทั่วประเทศมี 120 ล้านเลขหมาย เป็นแอนดรอยด์ 70 ล้านเลขหมาย และ IOS 50 ล้านเลขหมาย ซึ่งโทรศัพท์ที่เป็นเวอร์ชั่นใหม่ สามารถใช้ตัว Cell Broadcast Service (CBS) ได้ทันที แต่กรณีที่เป็น 2G หรือ 3G ประมาณ 2 - 3 ล้านลขหมาย ปภ. จะใช้ระบบ Virtual ซึ่งก่อนหน้านี้จะเห็นข้อจำกัดในการใช้ส่ง SMS ที่จะส่งได้ไม่เกิน 70 ตัวอักษร และระยะเวลาในการส่งค่อนข้างช้า แต่ CBS ส่งค่อนข้างเร็ว และไม่จำกัดตัวอักษร สามารถส่งได้หลายภาษา และเชื่อว่าจะสามารถส่งข้อความแจ้งเตือนได้ภายใน 15 นาที
ส่วนจะควบคุมสาธารณภัยประเภทไหนบ้างนั้น ทาง ปภ. มี 7 ประเภทภัย ทั้งอุทกภัย วาตภัย แผ่นดินไหว สึนามิ ภัยหนาว ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 แต่การตัดสินใจใช้ Cell Broadcasts เพื่อแจ้งเตือนประชาชน หมายถึงเกณฑ์ที่ต้องเป็นไปตามที่มีก่อน ไม่ใช่แจ้งทุกเหตุเลย ส่วนในอนาคตจะมีการเตือนภัยประเภทต่าง ๆ เพิ่มเติมทั้งภัยไซเบอร์ ด้านความมั่นคงอาชญากรรมต่าง ๆ ด้วย

ส่วน กสทช. ที่วันนี้ ถูกตัดหางปล่อยวัด กันออกจากระบบ CBS ไปนั้น ก็ไม่รู้ว่าจะ "รู้สึกรู้สา" อะไรหรือไม่ หรือกำลังตั้งแท่นแต่จะ "โม่แป้ง" ตึกใหม่ กสทช. ที่นนทบุรี ที่นัยว่า เฉพาะค่าออกแบบตกแต่งและจัดหาวัสดุอุปกรณ์ ที่จะนำมาปรับปรุงตึกต้องใช้งบ ประมาณร่วม 1,000 ล้านบาท บางครุภัณฑ์ที่กำหนดสเปคจัดหาเอาไว้นั้น
นัยว่า ไม่สามารถจัดซื้อได้ภายในประเทศ จะต้องนำเข้ามาจากดาวเสาร์หรือดาวอังคารเท่านั้น จริงหรือไม่จริง ปูเสื่อรอดูรู้กันเอา!
แก่งหิน เพิง