
กสทช. ไฟเขียวดีลควบรวม AIS-3BB ชี้ผลกระทบไม่รุนแรง แต่ออกมาตรการเข้ม 5 ข้อ ห้ามขึ้นราคา-ลดคุณภาพเน็ต คงแพ็คเกจราคาต่ำสุด 5 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไฟเขียวดีลควบรวมกิจการ AIS-3BB แล้ว เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน หลังจากใช้เวลาหารือกันนานกว่า 6 ชั่วโมง โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม กสทช. ได้เริ่มหารือกรณีควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (TTTBB) ตั้งแต่เวลา 8.30 น. ไปจนกระทั่งเวลา 13.00 น. ก่อนจะยุติการประชุมชั่วคราวเพื่อไปปฏิบัติภารกิจถวายผ้ากฐินพระราชทานที่วัดยานนาวา และกลับมาประชุมลงมติกันอีกครั้งเมื่อเวลา 15.30 น.
โดยบอร์ด กสทช. 4 เสียง ลงมติให้อนุญาตควบรวมธุรกิจแบบมีเงื่อนไขเฉพาะ ประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง , นายศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ , น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ และ นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม ขณะที่ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้ใช้สิทธิงดออกเสียง
ขณะที่ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. และ พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช. ด้านกฎหมาย ได้ลงมติ “รับทราบ” การควบรวมธุรกิจไปตั้งแต่ช่วงเช้า และไม่ได้กลับเข้าร่วมประชุมอีก โดยอ้างข้อบังคับตามประกาศ กสทช. ปี 2549 ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับกรณีการรับทราบการควบรวมบริษัทระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และบริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ก่อนหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 20.00 น. พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง ได้แถลงภายหลังจากการประชุมบอร์ด กสทช. ว่า กรรมการเสียงข้างมากได้พิจารณาว่า แม้การรวมธุรกิจจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดอินเทอร์เน็ตประจำที่ (fixed broadband) และราคาค่าบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ แต่ขอบเขตและระดับของผลกระทบไม่รุนแรง เพราะมีบริการทดแทนกันได้สูงจากบริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ นอกจากนี้ ในพื้นที่ห่างไกลยังมีเน็ตประชารัฐ และ USO Net ที่ กสทช. จัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงอีกเกือบ 50,000 จุดทั่วประเทศ
ส่วยการแข่งขันในตลาดบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ (fixed broadband) นั้น ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 13 ล้านราย ภายหลังการรวมธุรกิจจะมีจำนวนผู้ประกอบการลดลงจาก 4 รายใหญ่ เหลือ 3 รายใหญ่ ซึ่งตลาดยังมี NT เป็นผู้ให้บริการที่มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 16 และมีความเป็นไปได้ต่ำที่จะร่วมมือกับอีกสองรายใหญ่ เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงยังสร้างความกดดันในการแข่งขันได้
ขณะเดียวกัน ทาง กสทช. ยังพบว่า มีข้อมูลที่สอดคล้องกันของรายงานการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ของสำนักงาน กสทช. การศึกษาของที่ปรึกษาในประเทศ (สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และการศึกษาของที่ปรึกษาต่างประเทศ (SCF Associates Ltd.) ที่เห็นตรงกันว่า การรวมธุรกิจครั้งนี้จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นต่อตลาด จากรายงานของที่ปรึกษาต่างประเทศ ภายหลังการรวมธุรกิจ ผู้รวมธุรกิจไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน นำไปสู่ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น (Efficiency Gain) มูลค่าสูงสุดได้ถึง 10,000-15,000 ล้านบาท ในช่วง 5 ปี
“เหตุนี้ ทาง กสทช. จึงกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ให้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปลงทุนในโครงข่าย Fixed Broadband Access ในพื้นที่ที่มูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำหรือพื้นที่ห่างไกล อันจะสามารถทำให้เกิดประโยชน์สุทธิ (Net Benefit) ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม 88,690 ล้านบาท ในช่วง 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 0.18 – 0.49 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ณ ราคาปัจจุบัน (Nominal GDP) การกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะในการนำเงินไปลงทุนดังกล่าวข้างต้น จะทำให้โครงข่าย Fixed Broadband Access ขยายครอบคลุมมากขึ้นในพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำที่ยังไม่มีโครงข่ายในปัจจุบัน”

ด้าน ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า ในส่วนของการควบคุมราคานั้น ได้มีการกำหนดมาตรการเฉพาะกำหนดห้ามขึ้นราคาหรือลดคุณภาพบริการ และให้คงแพ็คเกจราคาต่ำสุดสำหรับอินเทอร์เน็ตประจำที่เป็นเวลา 5 ปี นอกจากนี้ กำหนดให้มีอนุกรรมการทำหน้าที่เป็น merger monitor เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันการขึ้นราคาจากผู้รวมธุรกิจเป็นเวลา 5 ปี โดยมีส่วนร่วมจากองค์กรผู้บริโภค นักวิชาการ และองค์กรวิชาชีพ โทรคมนาคม
“ยังมีมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีโครงข่ายสามารถเข้ามาใช้โครงข่ายของผู้ที่ขอรวมกิจการ โดยได้รับสิทธิเงื่อนไขในการเข้าใช้โครงข่ายได้เช่นเดียวกับผู้รับใบอนุญาตที่เกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจ เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันในพื้นที่เฉพาะในเชิงภูมิศาสตร์ของประเทศ โดยลดเงื่อนไขการเข้ามาประกอบกิจการผู้ประกอบการที่ไม่มีโครงข่าย”