
หากนับเนื่องจากวันที่ 8 กันยายน 2565 มาจนถึงวันนี้ที่ครบขวบปี นับตั้งแต่ “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)” ได้ประกาศผลการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่า 1.427 แสนล้านบาท โดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชน ได้ประกาศผลประกวดราคาที่ให้ “บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)” หรือ BEM เป็นผู้ชนะการประกวดราคา ด้วยข้ออ้างบริษัทมีข้อเสนอทางการเงินสุทธิที่ขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐดีที่สุด 78,288 ล้านบาท
ท่ามกลางกระแสวิพากษ์ ถึง “ส่วนต่างราคา” กว่า 68,000 ล้าน และข้อวิพากษ์อีกพะเรอเกวียน ที่ทำให้ รฟม. และกระทรวงคมนาคม ไม่สามารถจะกระเตงโครงการประมูลนี้ฝ่าด่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนลงนามในสัญญาโครงการได้
แม้ นายอธิรัฐ รัตนเศษฐ รักษาการ รมว.กระทรวงคมนาคม จะพยายามกระเตงผลประกวดราคาเสนอให้ที่ประชุม ครม. ในนัดสุดท้ายของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา เมื่อ 4 เดือนก่อน แต่ที่ประชุม ครม. ในนัดดังกล่าวต่างชิ่งหนีเผือกร้อนกันพัลวัน และโยนกลองให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเป็นผู้พิจารณา ด้วยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลผูกพันในระยะยาว
และแม้ศาลปกครองกลางและที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษา เมื่อ 30 มีนาคม 66 กรณีคณะกรรมการประกวดราคา และ รฟม. ปรับเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือก และยกเลิกประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งแรกว่า เป็นการดำเนินการโดยชอบตามขอบเขตอำนาจที่มี แต่ก็หาได้สร้างความกระจ่างแก่สังคม และต่อศาลปกครองด้วยกันเอง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง “ส่วนต่างราคา” ร่วม 70,000 ล้าน เมื่อเทียบกับข้อเสนอราคาของกลุ่ม BSR-BTS ที่เคยยื่นต่อ รฟม.เอาไว้ ซึ่งขอรับการสนับสนุนทางการเงินสุทธิจากภาครัฐเพียง 9,675 ล้านบาทเศษเท่านั้น
ทั้งที่ปริมาณเนื้องาน แบบก่อสร้างและเทคนิคก่อสร้างทั้งหลายทั้งปวงนั้น ยังคงเดิมทุกกระเบียดนิ้ว!

ยิ่งเมื่อย้อนรอยกลับไปพิจารณาผลการประมูล “รถไฟฟ้าสายสีชมพู-สายสีเหลือง” 2 โครงการของ รฟม. ที่ BTS-BEM เคยขับเคี่ยวกันมาก่อนหน้านั้น ก็ยิ่งพบข้อมูลอันชวนตะลึง! กลุ่ม BTS เคยเสนอขอรับอุดหนุนจากรัฐทั้งสองสาย “ทิ้งห่าง” BEM ขาดลอย!
โดยรถไฟฟ้าสายสีชมพูนั้น BTS ขออุดหนุนจากภาครัฐ 19,823.23 ล้าน ขณะที่ BEM เสนอสูงกว่า 144,481 ล้าน (แตกต่างกันกว่า 120,000 ล้าน) และสายสีเหลือง BTS ของบสนับสนุนก่อสร้างจากภาคัฐสุทธิ 22,087.06 ล้าน ขณะที่ BEM ขออุดหนุน 157,721.81 ล้าน แตกต่างกันลิบลับราว “ฟ้ากับดิน”
จึงยิ่งเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึง “ส่วนต่าง” ราคาในการประมูลสายสีส้มครั้งนี้ และทำให้กระทั่งวันนี้คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในครั้งนั้น ก็ยังคงสร้างความกังขาให้ที่ประชุมศาลปกครองด้วยกันเอง โดยเฉพาะในฟากฝั่งตุลาการเสียงข้างน้อย 23 เสียง ที่ได้ให้ที่ประชุมบันทึกเหตุผลคัดค้านการ “รับเบอร์แสตมป์” การประกวดราคาสุดอื้อฉาว ที่ทำให้ศาล “เปื้อนมลทิน” ไปด้วย จนถึงขั้นที่มีข่าวว่าตัวประธานศาลปกครองสูงสุดเองยังไม่ยอมลงนามในคำพิพากษากลางที่ตนเองเป็นประธานที่ปแระชุมด้วยซ้ำ

ทำให้ผลประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม “ค้างเติ่งคาราคาซัง” มาขวบปี จนตกมาถึงรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ในปัจจุบัน!!!
แน่นอน! หากรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลของ “นายกฯ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นได้ถูก “ล้มประมูลและเปิดประมูลใหม่” เพราะทั้ง “แคนดิเดทนายกฯ” และพรรคก้าวไกล (กก) ประกาศนโยบายชัดเจนว่า หากเป็นรัฐบาลจะล้มประมูลและเปิดประมูลใหม่ เปิดทางดให้เอกชนทั้งสองรายเข้ามาประมูลโครงการนี้อย่างเป็นธรรม
“พรรคก้าวไกลชัดเจนว่า รถไฟฟ้าสายสีส้มต้องประมูลใหม่อย่างเป็นธรรม จะเขียนเกณฑ์อะไร ข้อเท็จจริงต้องยอมรับว่า มี 2 เจ้าใหญ่ที่เป็นเอกชนเดินรถไฟฟ้า และ 2 เจ้าใหญ่ต้องเข้าแข่งขันได้ จะไปเตะตัดขา เปลี่ยนเกณฑ์ตัดตอนเอกชนไม่ได้ ดังนั้น หากจะให้การประมูล เกิดขึ้นแบบเร็วที่สุด คือ ใช้สัญญาเดิมมาประมูลใหม่ และเปิดกว้างสองเจ้าใหญ่ต้องเข้าได้ ไม่ให้มีส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้านบาท” นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์สื่อเอาไว้ก่อนหน้า

เช่นเดียวกับ “นายประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่เคยได้ชื่อว่าเป็น “แคนดิเดทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม” ในอดีตเองก็ประกาศท่าทีชัดเจน หากได้เข้ามากำกับดูแลกระทรวงคมนาคม จะล้มประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและเปิดประมูลใหม่อย่างแน่นอน
แต่เมื่อนายประเสริฐถูกโยกไปเป็น รมต.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และปรากฏชื่อของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม ในรัฐบาล “นายใหญ่-ทักษิณ ชินวัตร” ที่หวนกลับมากุมบังเหียนกระทรวงนี้อีกหน ถนนทุกสายต่าง “ฟันธง” ไปในทิศทางเดียวกันว่า....
หนทางในอันที่จะทบทวนและล้มประมูลโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม เพื่อเปิดประมูลใหม่นั้น ไม่เคยมีอยู่ในความคิดของ รมว.คมนาคม ผู้ผ่านเวทีการเมืองมาอย่างโชกโชนอย่างแน่นอน ตรงกันข้ามทุกฝ่ายต่างเชื่อว่า แนวโน้มที่นายสุริยะจะกระเตงโครงการประมูลอื้อฉาวนี้ฝ่าด่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลับมีอยู่สูง
ขนาดโครงการประมูลจัดหาและติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าและเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX-9000 ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ที่เคยเป็น “เผือกร้อน” ที่ทำให้รัฐบาล “นายใหญ่” ถูกซักฟอกในสภาและถูกรัฐประหารตามมา รวมทั้งยังถูก คตส. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งแท่นสอบกราวรูดจนเป็นข่าวครึกโครมอยู่เป็นปีๆ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถจะทำอะไรกับอดีต รมว.คมนาคม ที่ชื่อ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ผู้นี้ได้
แล้วนับประสาอะไรกับโครงการประมูลแสนล้านที่นัยว่ามี “ส่วนต่างราคา” กว่า 68,000 ล้านบาทนี้