
แม้จะเผชิญเสียงต้าน คัดค้านจมหูจากนักวิชาการ ต่อการที่ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” จะถลุงงบกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ “กองทุน กทปส.” เพื่อไปซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก 2022
ด้วยเห็นว่า ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุนฯ ที่ต้องใช้เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ การเข้าถึงบริการกระจายเสียง บริการโทรทัศน์ บริการโทรคมนาคมสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส
แต่บอร์ด กสทช. ชุดอะไรก็เกิดขึ้นได้ ที่มี ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นประธาน ก็ “ไฟเขียว” เงินกองทุน กทปส.จำนวน 600 ล้านบาท ให้แก่ “การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)” ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ส่งเรื่องมาด้วยมติเสียงข้างมาก (ลากไป) อีกตามเคย
ด้วยข้ออ้าง เป็นการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง ตามมาตรา 52 (1) แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และเป็นการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไปตามมาตรา 36 และมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่ง กสทช. สามารถดำเนินการได้

อีกทั้ง การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) เป็น 1 ใน 7 รายการที่ กสทช. กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (Must Have) โดย นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ได้แถลงหลังการประชุมบอร์ด กสทช. ว่า ที่ประชุม กสทช. เสียงข้างมากมีมติอนุมัติสนับสนุนเงินงบประมาณแก่ กกท. เพื่อการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) 2022 ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 600 ล้านบาท โดยให้คณะกรรมการบริหารกองทุน กทปส.และสำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามระเบียบต่อไป
เรียกว่า ตอนนี้ กสทช. มี “อำนาจเต็มเปี่ยม” ขึ้นมาทันทีทันใดในการพิจารณาอนุมัติการถลุงงบกองทุนวิจัยฯ ที่ว่านี้ แม้นักวิชาการหลากหลายจะยืนยัน นั่งยันว่า ผิดวัตถุประสงค์ และหมิ่นเหม่ต่อการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบก็ได้ แต่กระนั้น กสทช. ก็ยังคงยืนยัน นั่งยันและสามารถจะหยิบยกเอากฎหมายทั้งที่เกี่ยวข้องมาสาธยายรองรับอำนาจที่ตนเองมี

ตรงกันข้ามกับกรณีดีลควบรวมธุรกิจ “ทรูและดีแทค” ที่ถนนทุกสายต่าง “ยืนยันและนั่งยัน” ว่า กสทช.นั้น มีอำนาจอย่างเต็มเปี่ยม ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตลอดจนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและบรรดาประกาศ กสทช.ทั้งหลายแหล่ ที่จะพิจารณาดีลควบรวมกิจการที่ว่านี้
แม้กระทั่งคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เป็นสำนักงานกฎหมายของรัฐบาล รวมทั้งศาลปกครองกลางเองที่มีคำพิพากษายืนยันในอำนาจที่องค์กร กสทช. มีอยู่ ในการที่จะพิจารณา “อนุมัติ” หรือไม่อนุมัติการควบรวมกิจการที่ว่า หากพิจารณาแล้วเห็นว่า จะส่งผลต่อการผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขันในบริการโทรคมนาคมแล้ว กสทช. ย่อมมี “อำนาจ” ที่จะไม่อนุมัติการควบรวมกิจการได้
แต่ก็ให้น่าแปลกที่ กสทช. กลับยืนยัน นั่งยันว่า ตนเองนั้น “ไร้อำนาจ” ที่จะพิจารณาดีลควบรวมกิจการที่ว่านี้ ทำได้แค่การ “รับทราบ” รายงานการควบรวมกิจการ และพิจารณานำมาตรการเฉพาะเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น จนก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
จนถึงขั้นที่สภาองค์กรของผู้บริโภค และเครือข่ายนักวิชาการ ต้องลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนมติอัปยศของ กสทช. ดังกล่าว รวมทั้งเตรียมยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจโดยมิชอบของ กสทช.ในครั้งนี้
มันช่างตรงกันข้าม “เต็มคาราเบล” เสียจริงองค์กรอิสระใน 3 ภพที่ว่านี้!