
กสทช. กับ “หลุมพราง” ปิดดีลควบรวม
การบ้าน 6 ข้อ ที่ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” สั่งให้สำนักงาน กสทช. ไปดำเนินการศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติม ภายหลังจากได้รับรายงานผลการศึกษากรณีการควบรวมกิจการระหว่าง “ทรูและดีแทค” จากคณะทำงานที่สำนักงาน กสทช. รวบรวมและนำเสนอต่อที่ประชุม
แม้ในรายงานที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด กสทช. นั้นจะมีรายการ”หมกเม็ด”และชี้นำเพราะเลือกใช้แต่กรณีผลศึกษาของประเทศที่มีผลกระทบในเชิงบวก จนถูก ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการที่ร่วมอยู่ในอนุกรรมการเพื่อวิเคราะห์การรวมธุรกิจถึง 2 คณะ ได้แก่อนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ และอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง ออกมาจวกยับถึงการทำหน้าที่ของสำนักงาน กสทช.ที่รับหน้าที่รวบรวมรายงานเพื่อเสนอต่อบอร์ด กสทช.ในครั้งนี้
โดยระบุว่า รายงานที่สำนักงาน กสทช. เสนอกรรมการวิสามัญพิจารณาผลกระทบการควบรวมทรู-ดีแทค ของสภาฯ โดยอ้างงานศึกษาต่างประเทศ เลือกใช้กรณีศึกษาของประเทศที่มีผลกระทบตามที่ตนอยากเสนอ ไม่พูดถึงประเทศที่ราคาเพิ่มหลังควบรวม ทั้ง ๆ ที่อยู่ในงานเดียวกัน บางประเทศอ้างผลไปทิศทางตรงกันข้ามกับงานศึกษาต้นฉบับ

แต่สุดท้ายบอร์ด กสทช. ก็ยังไม่กล้าปิดดีลควบรวมกิจการที่ว่านี้ โดยได้สั่งให้สำนักงานฯ ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติมใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1. วิเคราะห์โครงสร้างการรวมธุรกิจของบริษัท ทรูและดีแทค โดยให้รวมถึงผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมดที่บริษัททั้งสอง และบริษัทใหม่ ( New Co) จะจัดตั้งขึ้นและมีอำนาจควบคุม 2. วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจ การแข่งขันในตลาดของผู้รับใบอนุญาตที่บริษัท New Co เข้าเป็นผู้มีอำนาจควบคุม
3. วิเคราะห์ผลดีที่เกิดจากการประหยัดอันเนื่องจากขนาด (Economies of scale) อย่างเป็นรูปธรรมและแนวทางในการส่งต่อไปยังผู้บริโภค 4. วิเคราะห์การถือครองคลื่นของบริษัท New Co ว่าก่อให้เกิดการได้เปรียบและมีผลต่อการแข่งขันในตลาดหรือไม่ อย่างไร 5. วิเคราะห์แนวทางในการลดอัตราค่าบริการ การรักษาคุณภาพการบริการเพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และ 6. วิเคราะห์มาตรการการส่งเสริม MVNO และเสนอแนวทางในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ เพื่อให้ MVNO สามารถแข่งขันได้ในตลาดได้
อย่างไรก็ตาม ผู้คว่ำหวอดในวงการโทรคมนาคม และเป็น 1 ในผู้สมัครเข้ารับการสรรหา กสทช. ได้กล่าวถึง “การบ้านทั้ง 6 ข้อ” ที่ กสทช. สั่งให้สำนักงานฯ ไปดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมว่า เป็นเพียง “ฉากบังหน้า” ที่ กสทช. พยายามทำให้สังคมเห็นว่า ได้พิจารณาดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค” อย่างรอบคอบ รัดกุม พิจารณาผลกระทบโดยรอบด้านในทุกมิติแล้ว ก่อนอนุมัติดีลควบรวมกิจการให้แก่กลุ่มทุนสื่อสารยักษ์
คือ "ตั้งธง" อนุมัติไว้แล้วตั้งแต่ต้น แค่หาทางซื้อเวลา-หาเหตุผลสนับสนุนให้ “เนียน” เท่านั้น!!!
แต่ “ความจริง ย่อมหนีความจริงไปไม่พ้น” ข้อเท็จจริงที่ทุกฝ่าย รวมทั้ง กสทช. ต้องตระหนักก็คือ กฎหมายจัดตั้ง กสทช. คือ พร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯปี2562 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประกาศ กสทช.ที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณานั้น ได้ “เปิดทาง” ให้ กสทช. ใช้วิจารณญาณ หรือพิจารณาว่าจะ “อนุมัติ-ไม่อนุมัติ” ดีลควบรวมกิจการในลักษณะเช่นนี้ได้หรือไม่ต่างหาก
“พ.ร.บ.กสทช. และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 และประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมพ.ศ.2549 ให้กสทช.มีอำนาจหน้าที่เพียง 2 ภารกิจเท่านั้น คือกำกับดูแลให้ตลาดมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม การดำเนินการใดๆ ในอันที่จะไปกระทบต่อหลักการข้างต้นจะกระทำไม่ได้เลย”
และหาก กสทช. เห็นว่า ตลาดมีการผูกขาด หรือผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาด มีพฤติการณ์เอาเปรียบผู้ใช้บริการ มีการกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม ทำให้ประชาชน.ผู้ใช้บริการถูกเอาเปรียบ กสทช.ต้องออกมาตรการกำกับดูแลทันที
ส่วนกรณีการ “ควบรวมกิจการ” ที่ถือเป็นทางลัดที่มีผลต่อการลดการแข่งขันก่อให้เกิดผูกขาด หรือมีอำนาจเหนือตลาดนั้น กสทช. ต้องสั่ง "ระงับ" เท่านั้น
“สิ่งที่ กสทช.กำลังดำเนินการอยู่เวลานี้ ไม่ว่าจะตั้งอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาผลกระทบในทุกมิติ การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นแบบจำกัด หรือเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่จะนำไปสู่ข้ออ้างในการพิจารณาอนุมัติการควบรวมกิจการ รวมทั้งล่าสุดที่สั่งให้สำนักงานดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบเพิ่มเติมอีก 6 ข้ออะไรนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นแค่ “พิธีกรรม” เพื่อหวังจะสร้างความชอบธรรมในการอนุมัติการควบรวกิจการว่าได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุมพิจารณาผลกระทบในทุกมิติแล้วเท่านั้น เป็นความพยายามทำให้สังคม “หลงประเด็น” เท่านั้น
ที่สำคัญสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องตระหนัก ก็คือ “..ธรรมชาติของเสือต้องกินเนื้อ ธรรมชาติของวัวควายยังไงมันต้องกินหญ้า ทำธุรกิจยังไงก็ต้องการกำไร (Profit) จะไปล่ามโซ่ ล้อมคอก กักกันอย่างไร หากแม้นมีโอกาสอันน้อยนิด มันก็ต้องเผยทาสแท้ตามธรรมชาติออกมา…..ฉันใดก็ฉันนั้น แม้กสทช.จะไปออกมาตรการห้าม มาตรการที่ต้องดำเนินการก่อนควบรวมกิจการ หรือสกัดกั้นกันอย่างไร สุดท้ายเมื่อมีอำนาจผูกขาดเหนือตลาดไปแล้วธรรมชาติของการดำเนินธุรกิจที่ต้องการกำไรหรือแสวงหากำไรยังไงก็ต้องเผยออกมาวันยังค่ำจะล้อมคอกกันยังไงก็หนีธรรมชาติไม่พ้น”
หากรัฐเปิดโอกาสให้มีการควบรวมกิจการไปแล้ว ต่อให้ออกมาตรการบรรเทา หรือมาตรการห้ามอย่างไร สุดท้ายก็ห้ามไม่ให้ธุรกิจเหล่านี้ต้องแสวงหากำไรต้องหาทางเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคเพื่อแสวงหากำไรอันเป็นพื้นฐานของการทำธุรกิจเมื่อมีโอกาสยังไงเขาก็ต้องทำ
สุ่มเสี่ยงขัดแย้งคำพิพากษา
นอกจากนี้ สิ่งที่ กสทช. ยังต้องตระหนักอีกเรื่อง ก็คือ ขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของตนเองตามประกาศ กสทช. ปี 2561 ที่มีใครบางคนในสำนักงาน กสทช. หรือกสทช.เองเคยออกมาป่าวประกาศก่อนหน้าว่า กสทช. ไม่มีอำนาจที่จะไประงับยับยั้งดีลควบรวมกิจการที่ว่านี้ นอกจากกำหนดมาตรการเฉพาะบรรเทาผลกระทบในเชิงบวกหรือลบได้เท่านั้น

“อย่าลืมว่าประกาศ กสทช. ปี 2561 ที่ว่ายังคงเป็นคดีความอยู่ในศาลปกครอง ภายหลังจาก นายณภัทร วินิจฉัยกุล กรรมการติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. หรือ “ซุปเปอร์บอร์ด” ยื่นฟ้องศาลปกครองไปก่อนหน้านี้ โดยขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำหน้าที่ของ กสทช. ต่อการพิจารณาดีลควบรวม รวมทั้งเพิกถอนประกาศ กสทช. ว่าด้วยมาตรการควบรวมกิจการฯ ปี 2561 เนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมาย ลดทอนอำนาจของ กสทช.”
แม้ศาลปกครองจะยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว แต่ก็ยังไม่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆลงมา โดยศาลเพียงแต่เห็นว่า กสทช. มีอำนาจตามกฎหมาย และตามประกาศ กสทช.ปี 61 ในการดำเนินการอย่างเต็มที่ได้อย่างเต็มที่ ประกาศกสทช.ดังกล่าวไม่ได้ลิดรอนอำนาจของ กสทช. ที่มีอยู่แต่อย่างใด ส่วนจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลยังไม่ได้พิจารณาประเด็นนี้
“หาก กสทช. เดินหน้าพิจารณาดีลควบรวมกิจการปล่อยไหลไปตามน้ำ หรือตามใบสั่งของ “มือที่มองไม่เห็น - Invisible Hand” ที่อ้างว่า สามารถจะดำเนินการควบรวมกิจการไปได้เลย โดยไม่ผิดกฎหมาย และหากในท้ายที่สุด ศาลเกิดมีคำสั่ง หรือมีคำพิพากษาลงมาว่า ประกาศ กสทช.ปี 61 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย บรรดาธุรกรรมการควบรวมกิจการที่บริษัทได้ดำเนินการไป หรือที่ กสทช.ได้อนุมัติออกไปก็มีหวังได้งานเข้า เป็นการดำเนินกาที่ขัดแย้งกับกฎหมายตามมา ถึงเวลานั้นก็ไม่รู้ใครจะรับผิดชอบความเสียหายในธุรกรรมที่ถลำลึกไปเกินกว่าขอบเขตของกฎหมายได้”

“ธนาธร” กสทช.ไม่มีทางตามทันเล่ห์นายทุน!
เช่นเดียวกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวไกล ที่ออกมาแสดงจุดยืนเกี่ยวกับการควบรวมกิจการทูและดีแทค ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนของสังคมอยู่เวลานี้ว่า ไม่ว่า กสทช. จะอนุมัติการควบรวมแบบมีเงื่อนไขเชิงพฤติกรรม หรือเงื่อนไขในเรื่องของค่าบริการ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีอยู่จริง และเชื่อว่าทำไม่ได้ ดังนั้น คณะก้าวไกลจึงมองว่า “ไม่ควรให้ดีลนี้เกิดขึ้น” เพราะเมื่อควบรวมไปแล้วจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย หากจะกลับไปเป็น 3 อีก มันยากมาก ส่วนใหญ่ทุกประเทศจะมีผู้ให้บริการอย่างน้อย 3 รายขึ้นไปทั้งนั้น ไม่มีใครให้ควบ 3 แล้ว เหลือ 2 เหมือนประเทศไทย เรามองเรื่องการปกป้องผู้บริโภคสำคัญ เราต่อต้านกลุ่มทุนผูกขาด เรายึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก
นายธนาธร ขยายความว่า การทำหน้าที่ของ กสทช. หากเรามองที่จุดการของคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน กสทช. ต้องเลือกข้อ 4 คือ ไม่อนุญาตให้ควบรวม เพราะ กสทช. ไม่มีทางรู้เท่าทันเล่เหลี่ยมของเอกชนหาก กสทช. อนุญาตให้ควบรวมและกำหนดมาตรการเฉพาะเป็นสิ่งที่ กสทช. จะต้องทำหน้าที่ยากมาก เพราะ กสทช.ไม่รู้เท่าทันของเอกชนอย่างแน่นอน และที่ผ่าน กสทช. ไม่เคยใช้ยาแรงใดๆ กำกับเอกชนได้เลย
“ดังนั้น กสทช. ควรจะยืนหยัดเคียงข้างประชาชน ภาพของประเทศไทยในอนาคตเราอยากเห็นอะไร อยากเห็นทุนนิยมที่ร่ำรวยจากการผูกขาดธุรกิจ หรืออยากเห็นประเทศไทยที่มีการออกดอกออกผลจากภาคธุรกิจที่ส่งผลถึงทุกคนในประเทศให้เกิดความเท่าเทียมกัน”