
จากกรณีที่ นายประเสริฐ อภิปุญญา อดีตกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช. (กตป.) ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบการออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ว่า อาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดยระบุว่า การที่ กสทช. ได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมประเภทที่ 3 เลขที่ 3ก/51/003 เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2555 และหมดอายุวันที่ 25 มิ.ย.2575 และแก้ไขเมื่อวันที่ 31 มิ.ย.2563 เลขที่ TEL3/2555/002 ให้ บมจ.ไทยคม โดยอ้างมติคณะรัฐมนตรี ชุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มาออกใบอนุญาตนั้น อาจเป็นการออกใบอนุญาตที่บกพร่องและไม่เป็นไปตามกฎหมาย ประกาศและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งอาจเข้าข่ายทุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง พร้อมขอให้สอบบุคคลที่เกี่ยวข้องคือนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อด้ตเลขาธิการ กสทช. นายก่อกิจ ด่านวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. รวมถึงคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และ กสทช. ที่เกี่ยวข้องนั้น
“ฐากร” ชี้แจงความจริง!
ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการ กสทช. และเป็นหนึ่งในผู้สมัคร กสทช. ได้ชี้แจงในทวิตเตอร์ส่วนตัวโดยระบุว่า ตามที่มีข่าวว่ามีคนร้องเรียนผม เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. กับ ป.ป.ช. เกี่ยวกับเรื่องดาวเทียมไทยคม นั้น
ผมขอเรียนว่า เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสำนักงาน กสทช. หรือเลขาธิการ กสทช. ที่จะดำเนินการแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม ผมได้ตรวจสอบในรายละเอียดเบื้องต้น เพื่อจะนำมาชี้แจงให้กับประชาชนเข้าใจ ดังนี้
1. การที่ดาวเทียมจะทำงานได้ จะต้องมีการอนุญาต 2 ส่วนเพื่อใช้งาน
1. สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม
2. ใบอนุญาตประกอบกิจการ เพื่อตั้งสถานีภาคพื้นดิน
ทั้งนี้ อำนาจในการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ตามข้อ 1 ในขณะนั้นตามกฎหมายเป็นของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลจัดสรรแล้วจะส่งเรื่องให้ กสทช. พิจารณาออกใบอนุญาตตามข้อ 2 ซึ่งในขณะนั้นเป็นอำนาจของ กทค. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม) ตามกฎหมายที่จะพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ แล้วจึงส่งเรื่องให้ กสทช. เพื่อรับทราบมติ
2. ซึ่งในเรื่องนี้ กทค. ได้มีการพิจาณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ตามที่รัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องให้ กสทช. พิจารณาดำเนินการ
3. ในปี 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. ใหม่ ได้กำหนดให้อำนาจในการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่เคยเป็นของรัฐบาล มาเป็นอำนาจของ กสทช. ซึ่งก็ไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพราะ กสทช. ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐ
ดังนั้น หลังจากปี 2560 กสทช. จึงมีหน้าในการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และตามข้อมูล ดาวเทียมไทยคม 5 กำลังจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานลงในเดือน ก.ย. 2564 เมื่อกฎหมายให้ กสทช. มีอำนาจในการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมซึ่งเป็นสมบัติของชาติ กสทช. จึงได้ออกหลักเกณฑ์เพื่อจะได้มีการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในระบบใบอนุญาต โดยจะใช้วิธีการประมูล ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่มีความโปร่งใส ก่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม สามารถตรวจได้ และเป็นวิธีที่นิยมใช้กันทั่วโลก และ กสทช. ก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ จนเปิดให้ยื่นเข้าประมูล แต่มีผู้ยื่นเข้าประมูลเพียงรายเดียว จึงได้ยกเลิกการประมูลไป เพื่อความโปร่งใส และเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
อนึ่ง สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรสิทธิในเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และใบอนุญาตประกอบกิจการ ก็น่าจะมาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องดังกล่าวต่อไป”